วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ดิน

เนื้อดิน (Soil Texture)
          คุณสมบัติที่เรียกว่าเนื้อดินนั้น ได้แก่ ความเหนียว ความหยาบ  หรือละเอียดของดิน ที่เรามีความรู้สึกเมื่อเราหยิบเอาดินที่เปียกพอหมาดๆ ขึ้นมาบี้ด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าดินบางก้อนเหนียว บางก้อนหยาบและสากมือนั้น เนื่องจาก  อนุภาคของแร่หรืออนินทรียสารที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในดินนั้นมีขนาดต่างกัน อยู่ร่วมกันทั้งหยาบ  และละเอียดเป็นปริมาณสัดส่วนแตกต่างกันออกไปในแต่ละเนื้อดิน เนื้อดินมีอยู่ทั้งหมด ๑๒ ชนิด  แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเนื้อดินได้ ๔ กลุ่ม 
          ความสำคัญของเนื้อดินที่มีต่อความเหมาะสมในการเพาะปลูก

          ๑. ด้านการเตรียมดิน
กลุ่มดินเหนียวและกลุ่มดินค่อนข้างเหนียวจะไถพรวนลำบาก กล่าวคือ เมื่อเปียกจะเหนียวจัด ถ้าแห้งก็จะแข็งจัดการเตรียมดินเพื่อการปลูกพืชทำได้ลำบากกว่ากลุ่มดินร่วนและกลุ่มดินทราย ซึ่งจะไถพรวนง่ายกว่า
          ๒. ด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน กลุ่มดินเหนียวและค่อนข้างเหนียวจะมีความสามารถอุ้มปุ๋ย หรือธาตุอาหารพืชและน้ำไว้ในดินได้มากกว่ากลุ่มดินร่วนและดินทราย ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ดินเหนียวและดินค่อนข้างเหนียวมีสภาพไม่แน่นทึบ ดินมีความโปร่งพอสมควร ดินพวกนี้จะปลูกพืชได้งามดี ไม่ต้องการปุ๋ยมากนัก ตรงข้ามกับกลุ่มดินร่วนและดินทรายซึ่งจะอุ้มน้ำและปุ๋ยได้น้อย ถ้าดินไม่ได้รับปุ๋ย หรืออินทรียวัตถุในดินมีอยู่น้อย พืชที่ปลูกมักจะไม่ค่อยงาม ต้องรดน้ำบ่อยใส่ปุ๋ยบ่อยๆ พืชจึงจะงอกงามดี
          ๓. ความโปร่งและร่วยซุย ดินในกลุ่มดินเหนียวมักจะแน่นทึบ ต้องพรวนบ่อยๆ หรือต้องจัดการเรื่องการระบายน้ำให้ดี เพราะจะขังน้ำได้ง่าย ทำให้รากพืชเน่าและไม่สามารถดูดน้ำและปุ๋ยได้อย่างปกติ จึงต้องหาวิธีทำให้ดินพวกนี้โปร่ง เช่น ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักผสมดินตอนเตรียมดินให้มากๆ ส่วนดินร่วนและดินทรายจะมีคุณสมบัติโปร่ง การระบายน้ำดี อากาศถ่ายเทดี  เหมาะกับการเจริญเติบโต และการดึงดูดปุ๋ยและน้ำในดินของราก แต่บางครั้งดินที่มีทรายปนอยู่มากจะโปร่งจนเกินไป พืชขาดน้ำง่ายเพราะดินแห้งเร็ว ต้องรดน้ำบ่อยๆ ทำให้การดูแลลำบาก  เราสามารถเพิ่มความอุ้มน้ำของดินร่วนและดินทรายได้ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรืออินทรียวัตถุต่างๆ ผสมกับดินให้มากๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น